วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

จิตวิทยาการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ
การประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการเรียนมัลติมีเดีย

บทนำ
การเรียนการสอนเป็นกระบวนการให้ความรู้และจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการนำสื่อการเรียนการสอนมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลความพร้อมและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในบรรดาสื่อการเรียนการสอน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนมากขึ้น โดยผู้สอนเป็นผู้ใช้เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสาระไปสู่ผู้เรียน หรือผู้เรียนใช้เรียนด้วยตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนได้รับการพัฒนาให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้สอนสามารถสร้างสรรค์และออกแบบการเรียนการสอนได้หลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์การเรียนการสอนและผู้เรียน การนำเสนอเนื้อหามีความสนุกสนานและเร้าความสนใจได้มากจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐานในการผลิตบทเรียนที่มีลักษณะเป็นสื่อแบบประสมสื่อหลายรูปแบบในรูปของข้อความตัวอักษร เสียง ภาพนิ่งกราฟิก ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า มัลติมีเดีย (Multimedia) ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะมัลติมีเดียเสนอเนื้อหาในห้องเรียนที่เชื่อมต่อกับเครื่องวิดีโอโปรเจคเตอร์เพื่อเสนอภาพขนาดใหญ่บนจอภาพแทนมอนิเตอร์ขนาดเล็กนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากสามารถดูข้อความและภาพ รวมทั้งฟังเสียงได้อย่างทั่วถึง

ความหมายของ มัลติมีเดีย
มัลติมีเดีย หมายถึง การนำองค์ประกอบของสื่อชนิดต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วิดีโอ โดยผ่านกระบวนการทางระบบคอมพิวเตอร์ (ทวีศักดิ์ กาญจนสุวรรณ. 2546)

การประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีในการออกแบบ CAI เพื่อการเรียนการสอน
ในการจะพัฒนาบทเรียนมัลติมีเดียให้มีประสิทธิภาพที่ดีนั้น การออกแบบการเรียนการสอน ผู้ที่ออกแบบได้ดีควรมีพื้นฐานความรู้ด้านหลักการและทฤษฏีการเรียนรู้ และทฤษฏีการสอน หลักการและทฤษฏีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าและการวิจัยของนักจิตวิทยาการศึกษาเกือบทั้งสิ้น ซึ่งทฤษฏีมีความสำคัญและจำเป็นสำหลับการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอน
การเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูลและการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและแก้ปัญหาต่างๆ  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม มีนักจิตวิทยาหลายท่านที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ เดวิค พี ออซุเบล ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย Gestalt Psychologist  ทฤษฎีการใช้ความเข้าใจ (CognitiveTheory) โคท์เลอร์ (Kohler, 1925) การเรียนรู้โดยการหยั่งรู้ (Insight Learning) Jero Brooner ทฤษฏีการเรียนรู้แบบค้นพบ Piaget ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา 

การประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีปัญญานิยมออกแบบ CAI ในการเรียนการสอน
1.  หลักการและแนวคิดของทฤษฎีปัญญานิยม นำมาใช้ในการออกแบบบทเรียน CAI
1.1.    ใช้เทคนิคเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้เรียนก่อนเริ่มเรียน โดยการผสมผสานข้อมูล และการออกแบบ Title ที่เร้าความสนใจ
1.2.    ควรสร้างความน่าสนใจในการศึกษาบทเรียนอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
1.3.    การใช้ภาพและกราฟิกประกอบการสอนควรต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับเนื้อหา
1.4.    คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนในแง่ของการเลือกเนื้อหาการเรียน การเลือกกิจกรรม

2.  การเรียน การควบคุมการศึกษาบทเรียน การใช้ภาษา การใช้กราฟิกประกอบบทเรียน
2.1.    ผู้เรียนควรได้รับการชี้แนะในรูปแบบที่เหมาะสม หากเนื้อหาที่ศึกษามีความซับซ้อน หรือมีโครงสร้างเนื้อหาที่เป็นหมวดหมู่และสัมพันธ์กัน
2.2.     ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทบทวนความรู้เดิมที่สัมพันธ์กับความรู้ใหม่ในรูปแบบที่เหมาะสม
2.3.    กิจกรรมการสอนควรผสมผสานการให้ความรู้ การให้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ หาคำตอบ
2.4.    สร้างแรงจูงใจโดยเน้นความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จในการเรียนรู้

3.  การประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน
3.1.   ในการจัดการเรียนการสอน ควรคำนึงถึงความพร้อม ความสามารถ และเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุด
3.2.    ผู้เรียนมีระดับของการแสดงออกไม่เท่ากัน ในการจัดการเรียนการสอน ควรให้ทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อผู้เรียนจะได้สามารถตอบสนองตามระดับความสามารถของตน
3.3.   การให้การเสริมแรงในช่วงที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด จะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
3.4.   ช่วยครูให้ทราบว่าผู้เรียนที่มีผลการเรียนดี  ไม่ได้เป็นเพราะระดับเชาวน์ปัญญาเพียงอย่างเดียว  แต่มีองค์ประกอบอื่น ๆ   เช่น  แรงจูงใจ  ทัศนคติ  หรือ อัตมโนทัศน์ของผู้เรียนและความคาดหวังของครูที่มีต่อผู้เรียน
3.5.    ช่วยครูในการปกครองชั้นเรียน  และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

สรุป
บทสรุปเพื่อการนำไปใช้คือแนวคิดทางด้านจิตวิทยาปัญญานิยมที่กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวคิดสำคัญ เพราะทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยมเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมีความหมายสำหรับผู้เรียนช่วยให้สามารถสอนเนื้อหาหรือความคิดรวบยอดเดียวกันแก่ผู้เรียนทุกวัยได้ โดยต้องจัดเนื้อหาความคิดรวบยอดและวิธีสอน ให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของผู้เรียนแนวคิดทางด้านจิตวิทยาปัญญานิยมสามารถส่งผลต่อการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ดังนั้นผู้สนใจสร้างคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทุกท่านควรที่จะศึกษา และนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อให้ได้มาซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีคุณภาพ

เอกสารอ้างอีง
บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ และคณะ. ความรู้เกี่ยวกับ สื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา. ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ
                  กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
ทวีศักดิ์  กาญจนสุวรรณ.  Multimedia ฉบับพื้นฐาน.  บริษัทเคทีพี คอมพ์ แอนด์ คอนซัลท์ จำกัด.
                    กรุงเทพฯ. 2546

ลัดดา ศุขปรีดี. การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่อง แสงและสี (The development of
                    multimedia computer instruction program on “Light and Color). วารสารศึกษาศาสตร์
                   ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 เดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2548
 ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม. เข้าถึงได้ http://www.learners.in.th/blog/primary/427887 (ค้น 20/09/54)

1 ความคิดเห็น: